วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

โรคถุงลมโป่งพอง



 โรคถุงลมโป่งพอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับที่ 6 ของประชากรทั่วโลก ในปี ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) และเป็นลำดับที่ 5 ในปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ซึ่งองค์การอนามัยโลก ประมาณการว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยเสียชีวิตจาก โรคถุงลมโป่งพอง ประมาณปีละ 3 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) โรคถุงลมโป่งพอง จะขยับขึ้นมาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกในลำดับที่ 4
 สำหรับในประเทศไทย โรคถุงลมโป่งพอง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในลำดับต้น ๆ ของคนไทย ประมาณการว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วย โรคถุงลมโป่งพอง ประมาณปีละ 15,000 คน และในจำนวนผู้สูบบุหรี่ 10 ล้านคน จะมีผู้ป่วยด้วย โรคถุงลมโป่งพอง 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ 3 แสนคน มีอาการชัดเจนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง



โรคถุงลมโป่งพอง
 สำหรับสาเหตุการเกิด โรคถุงลมโป่งพอง ร้อยละ 90 มาจากการสูบบุหรี่ มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดจากการขาดเอนไซม์ โดย โรคถุงลมโป่งพอง นี้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ติดบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็น โรคถุงลมโป่งพอง ได้ทุกคน ต่างกันที่ช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการสูบบุหรี่ และปริมาณการตอบสนองของร่างกายต่อควันบุหรี่และพันธุกรรม เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ หรือบิดามารดาเป็นโรคนี้อยู่แล้ว ฯลฯ

สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง
 โรคถุงลมโป่งพอง (Pulmonary Emphysema) เป็นโรคที่มีภาวะของการอุดกั้นอย่างเรื้อรังของหลอดลมทั่วปอดทั้ง 2 ข้าง โดยมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่หลอดลมขนาดเล็กและที่ถุงลม โดยสาเหตุสำคัญของ โรคถุงลมโป่งพอง มาจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยสารมลพิษในควันบุหรี่หลายชนิดจะก่อการระคายเคืองต่อหลอดลมและทำลายผนังถุงลม ทำให้เนื้อเยื่อซึ่งโยงยึดหลอดลมและถุงลมเสื่อมลง หลอดลมเล็ก ๆ ขาดการยึดโยงที่ดีจึงแฟบตัวได้ง่าย เกิดการอุดกั้นของอากาศที่ผ่านหลอดลม โดยเฉพาะในจังหวะของการหายใจออก ทำให้มีลมค้างอยู่ในถุงลมมากขึ้น หรือ เรียกว่า " ถุงลมโป่งพอง " และการที่มีลมค้างอยู่ในถุงลม ทำให้ผู้ป่วยสูดหายใจเข้าได้ไม่เต็มที่ และเกิดอาการเหนื่อยหอบ อีกทั้งควันบุหรี่ที่ระคายเคืองหลอดลมอยู่นาน ๆ จะทำให้ผนังหลอดลมอักเสบและหนาขึ้น มีเสมหะมากขึ้น
       โรคถุงลมโป่งพอง เป็นหนึ่งในอาการของ "โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง" ซึ่งรวมเอา "โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง" (Chronic Bronchitis) และ "โรคถุงลมปอดโป่งพอง" (Pulmonary Emphysema) เข้าด้วยกัน เนื่องจากโรคทั้งสองเกิดจากการหายใจเอามลภาวะที่เป็นพิษ ในรูปของก๊าซหรือฝุ่น อย่างเช่นควันบุหรี่ และควันจากการเผาไหม้เข้าไปก่อให้เกิดอาการอักเสบ และการทำลายระบบทางเดินหายใจ ซึ่งได้แก่ หลอดลม และปอดเหมือนกัน อีกทั้งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการของโรคทั้งสองร่วมกัน ต่างกันตรงที่อาจมีอาการของโรคหนึ่งมากกว่ามีผู้ป่วยน้อยรายที่มีเพียงอาการเดียว

อาการของโรคถุงลมโป่งพอง
          ผู้ที่เป็น โรคถุงลมโป่งพอง ในขั้นต้นจะไม่ค่อยปรากฎอาการมากนั้น โดยมีอาการทั่วไปคือ ไอเรื้อรัง มีเสมหะ เป็นหวัดง่าย เหนื่อย คออักเสบ หลอดลมอักเสบบ่อย ๆ และหายยาก ต่อมาจะหอบเหนื่อย เพราะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หายใจมีเสียง หายใจลำบาก เพราะหลอดลมตีบขึ้น อาการจะมากขึ้นตามการเสื่อมของถุงลมในปอด

          ในรายที่เป็นมากจะมีอาการหอบเหนื่อยมาก จนไม่สามารถทำงาน เดิน หรือใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ ต้องนอนพักให้ออกซิเจนตลอดเวลา เพราะมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งญาติพี่น้องและผู้พบเห็นต้องทุกข์ใจเช่นกัน อาการหอบเหนื่อยที่มีอยู่ตลอดเวลาจะสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยจนกว่าจะเสียชีวิต และผู้ป่วย โรคถุงลมโป่งพอง เหล่านี้จะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ภาวะการหายใจวายและภาวะหัวใจวาย

โรคถุงลมโป่งพอง มีการดำเนินโรคอยู่ 4 ขั้น คือ

           ขั้นที่ 1 เป็นขั้นที่มีปัจจัยเสี่ยงและเริ่มมีการอุดกั้นของหลอดลมเล็ก ๆ ซึ่งเป็นระยะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ และพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในหลอดลมเล็ก ๆ เหล่านั้น สามารถกลับคืนสู่ปกติได้เมื่อหยุดบุหรี่สำเร็จ

           ขั้นที่ 2 มีการอุดกั้นของหลอดลมและความเสื่อมของถุงลมชัดเจน โดยทราบได้จากการตรวจสมรรถภาพปอด ในขั้นนี้ผู้ป่วยจะมีอาการไอและเหนื่อยไม่มาก

          ขั้นที่ 3 ผู้ป่วยจะมีอาการไอและเหนื่อยมากขึ้น ผลการตรวจสมรรถภาพปอดเสื่อมลงอีก

          และขั้นที่ 4 ผู้ป่วย โรคถุงลมโป่งพอง จะมีการเสื่อมของหลอดลมและถุงลมมาก มีภาวะการหายใจวายและหัวใจวายเกิดขึ้น ระยะนี้ผู้ป่วย โรคถุงลมโป่งพอง จำเป็นต้องพึ่งออกซิเจน

การรักษาโรคถุงลมโป่งพอง
          ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถทำให้ โรคถุงลมโป่งพอง หายได้ แต่การใช้ยาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและปอดถูกทำลายช้าลง โดยยาที่รักษา โรคถุงลมโป่งพอง คือ

ยาขยายหลอดลม

          มีทั้งชนิดกิน ฉีด และพ่น ปัจจุบันนิยมใช้ยาพ่นที่ออกฤทธิ์นาน ส่วนยาพ่นชนิดออกฤทธิ์เร็วมักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเริ่มหอบ

ยาสเตียรอยด์

          มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วย โรคถุงลมโป่งพอง มีอาการรุนแรง หรือมีอาการหลอดลมอักเสบร่วมด้วย เพราะยาสเตียรอยด์ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดี แต่ไม่นิยมใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะมีผลข้างเคียงมาก ปัจจุบันนิยมใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นมากกว่าชนิดรับประทานหรือฉีด

ยาปฏิชีวนะ

          จะใช้กรณีพบว่ามีการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ พบการอักเสบของหลอดลม โดยผู้ป่วยจะไอมีเสมหะมากขึ้น และเสมหะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลือง หรือสีเขียว หรือเป็นหนอง

ยาละลายเสมหะ

          ใช้เมื่อมีเสมหะเหนียว และมีเสมหะมาก ผู้ป่วยควรทานน้ำให้มากขึ้น เพราะน้ำเป็นตัวละลายความเหนียวของเสมหะได้ดีที่สุด

การป้องกันโรคถุงลมโป่งพอง
          โรคถุงลมโป่งพอง สามารถป้องกันได้ด้วยการงดสูบบุหรี่ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทำงาน และการเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีควันพิษ หรือในที่ที่มีผู้สูบบุหรี่ และแม้ว่า โรคถุงลมโป่งพอง นี้ จะทำให้เกิดโรคเมื่อมีอายุมากก็ตาม แต่ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคควรรับการตรวจสมรรถภาพปอด เพราะหากตรวจพบ โรคถุงลมโป่งพอง ในระยะเริ่มแรกก็อาจหลีกเลี่ยง หรือป้องกันได้

วันรณรงค์ถุงลมโป่งพองโลก
          องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และองค์การโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก (Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease-GOLD) ได้กำหนดให้มี วันรณรงค์ถุงลมโป่งพองโลก หรือ World COPD Day ซึ่งตรงกับวันพุธที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยวันถุงลมโป่งพองโลก เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) โดยมีจุดประสงค์ในการกำหนด วันรณรงค์ถุงลมโป่งพองโลก เพื่อกระตุ้นเตือนให้บุคลากรทางการแพทย์ และการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่า โรคถุงลมโป่งพอง เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศที่สำคัญโรคหนึ่ง อันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ ผู้ป่วยด้วย โรคถุงลมโป่งพอง นี้ต้องทุกข์ทรมานจากอาการไอเรื้อรัง เหนื่อย และหายใจลำบาก เนื่องจากความเสื่อมของถุงลมและปอด ซึ่งควรจะได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้มีคุณภาพ

          นอกจากนี้เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนัก และรับรู้พิษภัยของการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิด โรคถุงลมโป่งพอง         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น